ผลิตไฟประดับอย่างไรให้โดนใจตลาด
ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีด้านสินค้าให้แสงสว่างก็พัฒนาเช่นกัน ดังที่เราจะเห็นได้จากไฟประดับในยุคก่อนกับยุคปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก ซึ่งหากเรามองในแง่ของตลาดในไทยอาจดูไม่น่ากลัวมากนัก แต่หากผู้ประกอบการต้องการพัฒนาก้าวสู่ตลาดสากลก็จะพบว่าตลาดของไฟประดับ มีคู่แข่งมาก โดยคู่แข่งสำคัญ คือ จีน เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งใช้กลยุทธ์การตัดราคาซึ่งต่ำกว่าสินค้าถึงเท่าตัว กำลังเป็นอุปสรรคใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายใหม่ และมักจะเป็นสินค้าที่ผลิตเป็นแมสที่ผลิตจำนวนมากและเร็วด้วยเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบจากพลาสติกและกระดาษ แต่สินค้าของไทยแม้จะผลิตเป็นแมสเหมือนกันแต่เป็นแบบกึ่งหัตถกรรม และบวกด้วยการออกแบบ
ซึ่งถึงแม้ประเทศคู่แข่งจะได้เปรียบด้านเทคโนโลยีและจำนวนการผลิต แต่หากเทียบในแง่คุณภาพและความละเอียดอ่อน ของประเทศจะมีความประณีตมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าผู้ประกอบการไทยควรจะนอนใจ เพราะปัจจุบันการลอกเลียนแบบกำลังเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก
การลอกเลียนแบบ เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักอยู่แล้ว เพราะแม้กระทั่งชาวตะวันตกยังนำแบบที่ชอบไปให้ประเทศที่ผลิตได้ราคาถูกกว่าเลียนแบบ เพราะฉะนั้น หนทางที่ผู้ประกอบการซึ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการขายดีไซน์ใหม่ๆ ต้องปรับเปลี่ยนแบบใหม่ๆ เรื่อยๆ อย่างน้อยแต่ละปีต้องมี 2 คอลเล็กชั่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในหรือต่างประเทศ โดยควรจะต้องดูเทรนด์ใหม่ๆ จากนิตยสารต่างประเทศ เช่น นิตยสารของตกแต่งบ้าน นิตยสารเสื้อผ้า เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด หรือรสนิยมของแต่ละโซน การเรียนรู้ความต้องการของตลาดให้แน่ชัด ซึ่งรวมทั้งวัฒนธรรมและรสนิยม มีความสำคัญมาก อย่าง เรื่องลวดลายหรือรูปแบบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบของประเทศไทยคือ การมีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่แตกต่างจากคู่แข่ง และการพัฒนาด้านดีไซน์จากคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสนใจและรู้ว่าควรจะนำวัตถุดิบที่ประเทศมีอยู่ไปใช้ประโยชน์ดัดแปลงเป็นผลงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะฝีมือแล้ว ยังมีการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องของการดีไซน์ ทำให้คนรุ่นใหม่มองอนาคตทางนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์โดยรวม